ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว ถือเป็นการปลดล็อกพืชกัญชาพ้นบัญชียาเสพติด แต่ร่างพ.ร.บ.กัญชงฯ ที่กำหนดข้อบังคับการใช้ยังไม่ออก มีข้อถกเถียงกันว่า กัญชา อะไรทำได้ หรือไม่ได้ ทีมงานจึงสรุปมาให้

หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กัญชาจะไม่มีสถานะเป็นพืชเสพติดอีกต่อไป ความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต้องยกเลิก การใช้กัญชา รวมถึงการสูบก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายยาเสพติด ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซค์ “ปลูกกัญ” ของ อย. สามารถถอนการจดแจ้งหากพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาก็สามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้

แม้กัญชาจะไม่มีความผิดตามกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่การใช้ จำหน่าย นำเข้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสุขภาพ ยังต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่นๆ โดยการจำหน่ายมีเงื่อนไข ห้ามจำหน่ายให้สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนการแปรรูปอาหารก็ต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.อาหาร ผลิตยาต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.ยา ทำสมุนไพรต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.สมุนไพร หรือทำเครื่องสำอางต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง  และหากใครที่ต้องการนำเข้าหรือส่งออกจะต้องแจ้งต่อกรมศุลกากร เพื่อเสียภาษี

นอกจากนี้ การมี ใช้ จำหน่ายสารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองจากอย. หรือสารสกัดจากกัญชานั้นมีแหล่งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมายยาเสพติด

ขณะที่ผู้ที่ขับรถสาธารณะ หากเสพกัญชาจะมีความผิดตามพ.ร.บ.จราจร และผู้สูบกัญชาก็อาจเสี่ยงกระทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญได้

Cr. 7HD